ภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดไซนัส
(Complications from sinus surgery)


เรียงตามการพบมากไปน้อย              นพ.วิรัช จิตสุทธิภากร

1.   เลือด+มูกหนองไหลซึม (ชั่วคราว)- เลือดกำเดาหรือมูกหนองอาจไหลทางด้านหน้าหรือด้านหลังภายหลังการผ่าตัดซึ่งจะเป็นการไหลซึมๆ ออกมาเรื่อยๆ ผู้ป่วยอาจมีความกังวลหรือรำคาญที่ต้องคอยซับ แต่ไม่มีอันตรายและเกิดขึ้นได้เกือบทุกรายที่ผ่าตัด โดยจะมีโอกาสไหลในช่วงหนึ่งสัปดาห์แรก
ในกรณีที่ไหลมากตลอดเวลา ไม่มากสามารถหยุดได้เอง หลังจากการผ่าตัดหากไหลมากแพทย์จะทำการใส่วัสดุอุดห้ามเลือดหรือผ่าตัดจี้หยุดเลือด

2.   คัดจมูกมาก ( ชั่วคราว)  – เป็นภาวะที่บวมหลังจากการผ่าตัด เนื่องจากแผลยังสด จะเป็นมากที่สุดในช่วง 24-48 ชั่วโมง

3.   น้ำตาเอ่อ (ชั่วคราว) – เป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวหลังจากผ่าตัดเนื่องจากโพรงจมูกจะบวมมากในช่วง 24-48 ชั่วโมงทำให้น้ำตาระบายออกจมูกไม่ได้ตามปกติ อาจจะคงอยู่ไปประมาณหนึ่งสัปดาห์

4.   ตาคล้ำคล้ายแพนด้า (ชั่วคราว) – อาจเกิดจากการนำแผ่นกระดูกระหว่างตาและจมูกออกโดยตั้งใจเพื่อเข้าไปยังก้อนเนื้องอก ทำให้เลือดบางส่วนไหลซึมเข้าไปในกระบอกตา ภาวะนี้จะหายเองในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ (ดูรูปกลาง)

 5.   ตาบวม การมองเห็นแย่ลง (ชั่วคราว) - เกิดจากเลือดเข้าไปคั่งในกระบอกตา แพทย์จะทำการตัดขอบตาด้านข้างเพื่อลดความดันตา (ดูรูปล่าง)

6.   ชาที่ฟันหน้า หรือขอบรูจมูก (ชั่วคราวหรือถาวร) – สาเหตุที่แน่นอนยังไม่ทราบ แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากเครื่องมือผ่าตัดกดทับที่เส้นประสาททำให้มีอาการชา 

7.   มองเห็นภาพซ้อน หรือกรอกตาไม่ได้ (ถาวร)- เกิดจากการอุปกรณ์เข้าไปโดนกล้ามเนื้อที่ใช้กรอกตาขาดออกจากกัน หรือโดนที่เส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อเหล่านั้น แก้ไขไม่ได้

8.   น้ำเลี้ยงสมองรั่วมาที่จมูก(ชั่วคราว)- เกิดจากการอุปกรณ์เข้าไปโดนที่ฐานกระโหลก ซึ่งแพทย์จะทำการซ่อมให้ระหว่างการผ่าตัดหรือภายหลังจากการผ่าตัดขึ้นกับช่วงเวลาที่พบเหตุการณ์

9.   ตาบอด(ถาวร)-เกิดจากการอุปกรณ์เข้าไปตัดโดนเส้นประสาทตา จะตาบอดไปตลอดชีวิต

10. เสียชีวิต-เกิดจากอุปกรณ์เข้าไปโดนเส้นเลือดใหญ่ด้านหลังของไซนัสแล้วหยุดไม่ทัน

เลือด+มูกหนองไหลซึม (ชั่วคราว)

ตาคล้ำคล้ายแพนด้า (ชั่วคราว)

 ตาบวม การมองเห็นแย่ลง (ชั่วคราว)