ไซนัสอักเสบจากเชื้อรา (Fungal Rhinosinusitis)

หลายคนรู้จักไซนัสอักเสบเป็นอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส แต่สาเหตุที่เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ อีกอย่างแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก คือเชื้อรา.... ใช่ ราที่มันขึ้นขนมปังนี่แหละครับ ราที่ลอยไปมาในอากาศ ซึ่งมีอยู่มากมาย หลากหลายสายพันธ์ุ หากต้องการเห็นก็ทดสอบง่ายๆ แค่เอาขนมปังวางไว้บนโต๊ะ ไม่กี่วันก็จะเห็นราเป็นหย่อมขึ้นมากินขนมปังแน่นอน...

แล้วรามันมาขึ้นในจมูกเราได้อย่างไร...

จริงๆแล้วเนื่องจากรามันอยู่ในอากาศที่เราหายใจ หรือสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว ดังนั้นเมื่อเกิดสภาวะเหมาะสมบางอย่าง มันก็สามารถจะเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ในโพรงไซนัสเราได้เช่นกัน เมื่อมันสะสมมากขึ้นๆ จะเกิดภาวะที่แพทย์เราเรียกว่า ก้อนเชื้อรา (Fungal Ball) ครับ

ซึ่งเจ้าก้อนนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบน้อยๆ และต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะไม่ก่อให้เกิดอาการกับเราอย่างชัดเจน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การวินิจฉัยไม่ง่ายนัก หลายครั้งกว่าเราจะรู้ว่าเป็นก้อนเชื้อรา ก็คือตรวจอะไรก็ไม่เจอ สุดท้ายแพทย์ไปเอกซ์เรยคอมพิวเตอร์ ถึงรู้ว่าเป็น 

อาการที่ว่า เช่น ปวดหัว แต่บอกจุดตำแหน่งชัดๆ ไม่ได้ หรือปวดใบหน้า แต่กินยาก็หายไปเป็นพักๆ แล้วก็เป็นใหม่ หรือบางคนเป็นไซนัสอักเสบมานาน รักษาไม่หายสักที สุดท้ายแพทย์ตัดสินใจเอกซ์เรย์ แล้วก็เจอในที่สุด...

     แม้ว่าอาการของไซนัสอักเสบจากราโดยมากจะไม่ได้รุนแรง แต่ในบางสายพันธุ์ เช่น Mucor, Aspergillus หากว่าปล่อยไว้ไม่รักษา เมื่อสภาวะของร่างกายอ่อนแอลง เช่นเบาหวานขึ้น หรือ มีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่ภูมิต้านทานน้อย เช่นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องระยะท้ายๆ... เชื้อราดังกล่าวจะรุกรามไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดุร้ายมาก และครั้งนี้อาจจะอันตรายถึงเสียชีวิตได้ (Invasive fungal rhinosinusitis, IFRS) 

     การรักษาโรคไซนัสจากราในกลุ่มด้านบน หากพบว่าเป็นแต่เนิ่นๆ ในขณะที่คนไข้ยังแข็งแรงดี การรักษาโดยการผ่าตัดผ่านกล้องสามารถหายขาดได้เลยครับ คนไข้จะมีความสุขมาก เนื่องจากอาการปวดหัวที่เคยเป็นพบว่าจะหายเหมือนปลิดทิ้ง.... แต่หากพบว่าเป็นเมื่ออยู่ในภาวะลุกลาม ขณะที่ร่างกายก็มีภูมิต้านทานต่ำมากๆ จะรักษายากและมีภาวะแทรกซ้อนทั้งจากการผ่าตัด และจากยาที่ให้ โอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูง

อีกทั้งการผ่าตัดก็ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ ครั้งเดียวจบเหมือนกันรักษาก้อนเชื้อราธรรมดาๆ 

เมื่อผ่าเสร็จก็จำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อรา ที่มีผลข้างเคียงมากมาย โดยเฉพาะตัว Amphotericin B ซึ่งมีผลต่อไตรุนแรง แม้ว่าปัจจุบันมีตัวที่ผลข้างเคียงน้อยกว่า (liposomal Amphoterin B) แต่ราคาสูงมากๆครับ

     ส่วนราอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้เกิด ภาวะของไซนัสอักเสบ คือ ไซนัสอักเสบจากราร่วมกับภูมิแพ้ (Allergic Fungal RhinoSinusitis, AFRS) ภาวะนี้ในปัจจุบันแบ่งแยกย่อยลงไปอีกหลายอย่างเช่น EMRS,EFRS ซึ่งไม่ขอพูดถึงนะครับ แต่พบว่าคนไข้จะเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังที่มีน้ำหนองที่เหนียวข้นมากและมีสารเฉพาะบางอย่าง (Eosinophilic mucin) ร่วมกับพบริดสีดวงจมูก, พบการแพ้ของเชื้อราในเลือด หรือการทดสอบผิวหนังให้ผลบวกต่อรา, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบลักษณะเฉพาะบางอย่าง กลุ่มนี้เรารักษาไม่ยากไม่ง่าย กล่าวคือการผ่าตัดอาจต้องทำหลายครั้ง การให้ยาต้องใช้เวลานาน และอาจจะต้องทำภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ร่วมด้วย แต่ก็ยังถือว่าเป็นรากลุ่มที่ไม่ลุกลาม และภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า

     โดยสรุปเรื่องของไซนัสอักเสบจากเชื้อรา หากพบว่าเรามีอาการของ"ไซนัสอักเสบเรื้อรัง" คือ การคัดจมูก น้ำมูกข้นเปลี่ยนสี หายใจได้กลิ่นน้อยลง หรือ มีอาการปวดตึงหน้า ให้พยายามพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด จุดประสงค์ของผมคือ อยากให้อย่างน้อยคนไข้ได้รู้จักโรคในกลุ่มนี้ และเข้าใจว่า ทำไมเมื่อแพทย์บอกว่าท่านเป็นไซนัสอักเสบจากรา จึงจำเป็นต้องผ่าตัดนะครับ อีกประการคือ หารักษาในขณะที่ยังเป็นน้อยๆ นั้นง่ายกว่ามาก